กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com

พลิกฟื้นนาและบ่อกุ้งร้างสู่ “หมู่บ้าน อยู่เย็น” ผู้ใหญ่ตาล – นทีธรรม ทองเนื้อแข็ง

พลิกฟื้นนาและบ่อกุ้งร้างสู่ “หมู่บ้าน อยู่เย็น”

ผู้ใหญ่ตาล – นทีธรรม ทองเนื้อแข็ง

… ภาพของบ้านเขาใน ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ปาล์มน้ำมันในวันนี้ หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเคยเป็นทุ่งนาและบ่อกุ้งร้างมาก่อน ทั้งหมดนี้เกิดจากการพลิกฟื้นและต่อยอด สร้างมูลค่าทางการเกษตรให้ชุมชนโดยการทำงานของนักปกครองของท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ …

          หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานนี้คือ นทีธรรม ทองเนื้อแข็ง หรือ ผู้ใหญ่ตาล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเขาใน หมู่ที่ 1 ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ผู้มีคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจการเป็นนักปกครองท้องถิ่น ลงรับคัดเลือกในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ในปี พ.ศ. 2556 ภายหลังจากที่คุณแม่เกษียณตำแหน่งกำนันแล้ว

ก่อนที่แม่จะเกษียณ เราก็ช่วยทำงานในชุมชนอยู่แล้ว เพราะเราเป็นกรรมการหมู่บ้านด้วย ทำให้เห็นว่าตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน สามารถช่วยชาวบ้านได้ในหลายทาง ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงตั้งปณิธานในตอนนั้นว่า เราจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสานต่อในสิ่งที่คุณแม่ทำไว้” ผู้ใหญ่ตาลกล่าว

ปัญหาดั้งเดิมของชุมชนบ้านเขาใน การประกอบอาชีพเกษตรอย่างการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และทำนา แต่สร้างรายได้ไม่สม่ำเสมอแลประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้ชาวบ้านทุก 15-20 วัน มีรายได้ที่แน่นอนเกิดความมั่นคงทางอาชีพ

พร้อมต่อยอดโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันเขาใน ที่มีสมาชิก 37 ราย รวมพื้นที่ 430 ไร่ เพื่อสร้างความรู้และทักษะในการทำปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ มีการอบรมจากหน่วยงานภายนอก เกิดเป็นเครือข่ายผู้ปลูกปาล์มน้ำมันร่วมกับชุมชนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น จนได้รับรองมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ราคาสูง ทำให้ทั้งเกษตรกรและแรงงานมีรายได้ดี พึ่งพาตัวเองได้แม้จะเกิดวิกฤตก็ตาม

ดังเช่นวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ในช่วงปี 2564 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ทำให้ต้องวางมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออก ตรวจตรากลุ่มเสี่ยง รวมถึงดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับเชื้อ จนกระทั่งไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม เป็นหมู่บ้านโควิดเป็นศูนย์

ผลของการปิดหมู่บ้าน ส่งผลผลกระทบต่อวิถีชีวิต ผู้ใหญ่ตาลจึงดำเนินโครงการใช้งบเงินทุนจากสวัสดิการของสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อำเภอกระแสสินธุ์ จำกัด มาใช้ในการจัดซื้อข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อดูแลผู้ที่ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ในระหว่างระยะเวลากักตัว 14 วัน

เมื่อพื้นฐานด้านอาชีพทางการเกษตรแข็งแรงแล้ว ผู้ใหญ่ตาลยังเดินหน้าพัฒนาหมู่บ้านสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลส์

ในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการโซลาร์เซลล์และนำเงินรายได้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการของชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยชุมชนจะได้รับรายได้เป็นค่าเช่าพื้นที่ และ รายได้ 10 เปอร์เซ็นต์จากการขายไฟฟ้า ให้การไฟฟ้าระโนด ในรูปแบบของสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อำเภอกระแสสินธุ์ เป็นรายได้ 2.5 – 3 แสนบาทต่อเดือน นานถึง 25 ปี สร้างความยั่งยืนเป็นทุนสวัสดิการให้กับหมู่บ้าน

          ทั้งหมดนี้ทำให้ หมู่บ้านเขาในมุ่งสู่ความเป็น “หมู่บ้าน อยู่เย็น” ตามเป้าหมายของกรมการปกครอง ในภารกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนหลัง COVID-19 

#วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน #วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน2565 #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น #กรมการปกครอง #กระทรวงมหาดไทย

Share
Share
Send to Email