‘หมู่บ้านเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพึ่งพาตนเอง’
ผู้ใหญ่ก้อย – พิชญาภา ทาแลบ
… บ้านใหม่แม่บอน หมู่ที่ 12 ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก หมู่บ้านใหม่ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากหมู่บ้านปากวังเพียง 20 ปี ความท้าทายของที่นี่คือการเริ่มต้นใหม่ในการสร้างชุมชน พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถือเป็นความท้าทายของนักปกครองท้องที่ …
ผู้ใหญ่บ้าน พิชญาภา ทาแลบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผู้ใหญ่ก้อย” ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรก ในขณะที่มีอายุเพียง 29 ปี ด้วยความตั้งใจเป็นสื่อกลางของชาวบ้านในการสะท้อนปัญหาในท้องที่ไปยังหน่วยงานภาครัฐ เช่นเดียวกับที่นำนโยบายรัฐมาเผยแพร่สู่ประชาชน
แต่ในปีเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ก้อยรับตำแหน่ง เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 พื้นที่ จ.ตาก ประสบปัญหา น้ำหลาก ดินสไลด์ แต่ผู้ใหญ่ก้อยกลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ชาวบ้านใช้ในช่วงฤดูแล้ง
เกิดเป็นความร่วมมือสร้างฝายชะลอน้ำ “รวมใจภักดิ์ร้อยดวงใจรักในหลวง” ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยเติมความชุ่มชื้น ซึมซับและชะลอน้ำหลากในฤดูฝน จากฝายแห่งแรก ทำให้เกิดการขึ้นไปสำรวจป่า จับจุดพิกัด และนำแนวคิดการสร้างฝายไปเผยแพร่ให้กับหมู่บ้านอื่น จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ด้วยคนเพียงไม่กี่คน เกิดเป็นเครือข่ายพิทักษ์ป่าตาก ที่ร่วมจับมือกันสร้างฝายถึง 999 แห่ง ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2557 โดยไม่ใช้งบจากภาครัฐ แต่อาศัยพลังของเครือข่ายร่วมมือกัน
ผลลัพธ์คือชุมชนไม่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ประปาหมู่บ้านสามารถหล่อเลี้ยงประชากรทั้ง 605 ชีวิตในหมู่บ้าน ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ป่าไม้เขียวขจี มีสัตว์ป่า พืชผักตามฤดูกาล ทั้ง เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดละโง่ก ผลไม้ป่า ที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น
ด้วยพื้นที่หมู่บ้านกว่า 70% คือพื้นที่ป่า ทำให้วิถีชีวิตผู้คนที่นี่ผูกพันธ์กับป่า แนวคิดหมู่บ้านเศรษฐกิจ สีเขียวจึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรที่มี ทั้งการไม่พึ่งพาสารเคมี การเก็บใบไม้ทำปุ๋ยเพื่อจำหน่ายในชุมชน ทำแนวกันไฟป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่ารวมถึงการตั้งด่านอำนวยความสะดวกให้กับผู้เก็บของป่า, การออกลาดตระเวนในช่วงฤดูกาลไฟป่า, การนำพี่น้องในท้องที่ไปหาธนาคารต้นไม้ กลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวในชุมชนท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นให้เกิดความกินดีอยู่ดีของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
การก่อร่างปูพื้นฐานหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งนี้เกิดจากใจที่รักในการทำงานด้วยจิตอาสา ทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งความภูมิใจของผู้ใหญ่ก้อยสิ่งหนึ่ง คือการได้ทำงานจิตอาสาในงานพระราชทานเพลิงศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมกับจิตอาสาในชุมชน ยึดถือพระองค์เป็นต้นแบบในการพัฒนาหมู่บ้านเสมอมา และนำประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตามหน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น
#วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน #วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน2565 #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น #กรมการปกครอง #กระทรวงมหาดไทย