กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com

บทบาท “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข

บทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านกับงาน “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ภายใต้การปฏิรูประบบบริหารราชการของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อัครมหาเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในส่วนภูมิภาคได้มีการแบ่งการบริหารราชการของอำเภอ ออกเป็นตำบลและหมู่บ้าน

มีการทดลองเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรกที่แขวงบางปะอิน มณฑลกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 (ร.ศ. 111) ถือกำเนิดผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย คือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล

นับเป็นจุดเริ่มแรกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีการตรา พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศให้วันที่10 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน จวบจนวันนี้เป็นเวลา 129 ปีแล้ว ในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบการปกครองท้องที่ เชื่อมโยง และขับเคลื่อนนโยบายของทางราชการ อีกทั้งเป็นตัวแทน และผู้นำพี่น้องประชาชนในตำบล หมู่บ้าน อยู่เคียงข้างคอยรับฟังทุกข์สุข ไกล่เกลี่ย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อประชาชนเป็นสำคัญ

ในการนี้เพื่อเชิดชูเกียรติสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้เป็นที่ปรากฏ ในความเสียสละในการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการมอบรางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 พร้อมกันนี้ ยังได้มีการนำเสนอประวัติ ความเป็นมาของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงความสำคัญของสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อีกทั้งการนำเสนอผลงาน บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในช่วง สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเชิงบวกต่อสาธารณชน ผ่านสื่อในหลายช่องทาง และทางเว็บไซต์ www.กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com

และจะเห็นได้ว่า “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” เป็นตัวแทนของระบบราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการปกครองท้องที่ การรักษาความสงบเรียบร้อย การดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” อีกทั้งให้การสนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์และผลดีแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนสืบไป

Share
Share
Send to Email